ธนาคารน้ำเสีย
- เรื่องเล่าสำนัก 6
- Dec 4, 2019
- 1 min read
บ้านหนองโพด ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม
วันนี้ที่ชุมชนหนองโพด ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม กลายเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม สาเหตุเพราะคนในชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันจัดการตนเอง ผ่านองค์กรสภาผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน
การจัดการน้ำเสีย ลดขยะ ลดสารเคมีในนาข้าว ชุมชนปลอดเหล้า และการร่วมกันสร้างกิจกรรมขยับกาย เพื่อให้ทุกคนมีทั้งสุขภาพกายและใจที่ดี คือสิ่งที่ทุกคนตระหนักว่า นี่แหละคือเป้าหมายที่พวกเราต้องทำร่วมกัน
กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างที่สภาผู้นำชุมชนที่นี่ร่วมกันสร้าง คือ ธนาคารน้ำเสียเพื่อจัดการน้ำเสียในครัวเรือน หลุมดินขนาดความลึกประมาณ 1.50 เมตร ที่ชาวบ้านหนองโพดช่วยกันขุด เรียกว่า “ธนาคารน้ำเสีย” ขั้นตอนการทำธนาคารน้ำเสียมีขั้นตอนง่ายๆ โดยชาวบ้านได้ประยุกต์ความรู้มาจากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ต่างกันตรงที่ ธนาคารน้ำแห่งนี้ คือ ธนาคารเพื่อดักน้ำเสียจากครัวเรือน ซึ่งบ้านหนองโพดได้ร่วมกันออกแบบขั้นตอนการทำร่วมกัน

จากเดิมที่น้ำเสียในชุมชนหลายหลังคาเรือนต้องไหลมารวมกันในที่ลุ่ม และทำให้สมาชิกชุมชนบางรายต้องเป็นเสมือนผู้รองรับของเสียจากครัวเรือนอื่น แต่หลังจากการมีนวัตกรรมธนาคารน้ำเสีย ก็ทำให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นถูกแก้จากต้นทาง
บ้านหนองโพดมีรูปแบบการทำงานที่สำคัญคือ การรวมตัวชาวบ้านและมีตัวแทนชุมชนที่เรยกว่าสภาผู้นำชุมชน ทำให้เกิดคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยทุกเดือนจะมีการประชุมเพื่อวางแผนแนวทางการแก้ปัญหาชุมชนตลอด ซึ่งผลลัพธ์ก็ทำให้ชุมชนของทุกคนน่าอยู่
และสิ่งสำคัญสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคือการทำงานภายใต้ฐานการนำของข้อมูล ทุกอย่างเริ่มจากปัญหาและความต้องการที่อยากจะแก้ปัญหา แต่การที่จะรู้ปัญหาที่แท้จริงการบันทึกข้อมูลจึงมีความสำคัญ
"เราคุยกันตลอด มีเวทีประชุมในคุ้ม และการ ประชุมระดับชุมชน ซึ่งทุกคนก็จะเอาผลจากการดำเนินการมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งสิ่งที่เล่านั่นหละคือข้อมูล และสภาผู้นำชุมชนก็จะบันทึกข้อมูล" ตัวแทนสภาผู้นำชุมชนเล่าวิธีการทำงานให้เราฟัง
วันนี้คำว่าชุมชนน่าอยู่ ชุมชนในฝัน ชุมชนในจินตนาการ หรือกระทั่งคำว่า "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ไม่ใช่คำลอยๆ ของชาวบ้านหนองโพดอีกต่อไป เพราะชาวบ้านที่นี่ได้เติมความฝันของตัวเองให้สมบูรณ์แล้ว
Comments