top of page

กุดประทายโมเดล ฟื้นธรรมชาติในนาข้าว เพราะความปลอดภัยสำคัญที่สุด

  • Writer: เรื่องเล่าสำนัก 6
    เรื่องเล่าสำนัก 6
  • Dec 3, 2019
  • 1 min read

บ้านกุดประทาย ต.กุดประทาย อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

 

“ผมอยากให้ชาวบ้านหันมาดูแลธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะในนาข้าว เพราะปัจจุบันชาวบ้านใช้สารเคมีในนาเยอะมาก จนทำให้ปูปลาหายหมด คนก็เป็นโรคเป็นภัยอาหารในนาจากที่เคยอุดมสมบูรณ์แต่ทุกวันนี้หายากมากเพราะมันเต็มไปด้วยสารเคมี” คำพูดของเศรษฐวุฒิ กลิ่นบัว ผู้ใหญ่บ้านกุดประทายหมู่ 5 ตำบลกุดประทาย อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากร 273 หลังคาเรือน และที่ตั้งของหมู่บ้านนั้นล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาข้าว ดังนั้นชาวบ้านที่นี่แทบทุกหลังคาเรือนจึงเป็นเกษตรกรและส่วนมากมีอาชีพทำนา แต่ในช่วงประมาณ 10 ปี ย้อนหลัง คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เริ่มเป็นวลีที่ไม่ค่อยจะเป็นความจริงกับหมู่บ้านแห่งนี้รวมถึงหมู่บ้านอื่นรอบๆ ด้วยเช่นกัน


“คนมักง่าย ใช้สารเคมี ฉีดยาฆ่าหญ้าแบบไม่กลัว เพราะช่วงหลังๆชาวบ้านหันมาทำนาหว่านมากขึ้น ทำให้ต้องฉีดยาคุมหญ้า อีกทั้งการทำนาทุกวันนี้ง่ายมากเพราะใช้เครื่องทุ่นแรงเกือบทั้งหมด ทั้งการหว่าน การเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ชาวบ้านเกิดความเคยชินและทุกอย่างจึงต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันคนอื่นๆ” ผู้ใหญ่บ้านกุดประทายเล่าเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมที่ชาวบ้านที่วิถีการทำนา ที่ทุกวันนี้ชาวบ้านส่วนมากหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น และไม่ค่อยอยากใช้แรงงานตนเองจนเกิดความเคยชิน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมี และผลที่ตามมาคือสภาพธรรมชาติในนาเปลี่ยนไปมาก ไม่มีอาหารจำพวกกบ เขียด ปลา ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์เหมือนเคย


เมื่อเห็นสภาพปัญหาเช่นนี้ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาชาวบ้านกุดประทายจึงได้เริ่มคุยกันเพื่อหาทางออก โดยการนำของผู้ใหญ่บ้านร่วมกับแกนนำชุมชน และได้ก่อตัวคณะทำงานที่เรียกว่า “สภาผู้นำชุมชนน่าอยู่บ้านกุดประทาย” และถือเป็นความโชคดีที่ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ ที่มีแนวคิดอยากเห็นการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความยั่งยืน


ปัจจุบันสภาผู้นำชุมชนบ้านกุดประทายมีสมาชิกทั้งหมด 35 คน ซึ่งเป็นตัวแทนที่ถือเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าที่อาสามาทำงานเพื่อชุมชนในการร่วมกันหาทางออกในเรื่องการลดสารเคมีในนาข้าว ซึ่งปีที่ผ่านมาสภาผู้นำชุมชนบ้านกุดประทายได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง โดยมีการประชุมสภาผู้นำชุมชนทุกเดือน และนอกจากนั้นแล้วก็ได้มีการออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา เริ่มจากการจัดเวทีสร้างความเข้าใจเพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมี การรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกทำนาอินทรีย์ การเดินทางไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบที่ทำนาอินทรีย์ การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การฝึกทำน้ำหมักชีวภาพ และการใช้ปุ๋ยพืชสด เช่น การปลูกถั่วพร้า การหว่านปอเทืองในแปลงนา เพื่อปรับปรุงสภาพดินในการเตรียมความพร้อมเพื่อทำนาอินทรีย์ รวมถึงการจัดแปลงนาของสมาชิกแต่ละคนในเนื้อที่ประมาณคนละ 2 ไร่ เพื่อทำนาเปรียบเทียบระหว่างการทำแบบใช้สารเคมีและการทำนาแบบอินทรีย์ เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างให้ชาวบ้านได้ผลที่ชัดเจน

จากการทำงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะหลังจากที่ชาวบ้านกลับมาจากการไปศึกษาดูงานที่บ้านโนนงิ้ว ตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านการทำนาอินทรีย์ต้นแบบในระดับภาคอีสาน ทำให้คนที่ได้ไปศึกษาดูงานเกิดความตื่นตัวในการทำนาอินทรีย์มากขึ้น หลายคนเริ่มหว่านถั่วพร้าในแปลงนาเพื่อปรับสภาพดิน นอกจากนี้ยังมีการรับสมัครชาวบ้านเพื่อเป็นสมาชิกทำนาลดสารเคมี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 70 คน นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ซึ่งจะนำไปใช้ทั้งในแปลงนาและรวมถึงในสวนผักรอบหมู่บ้าน “หลังจากไปศึกษาดูงาน ชาวบ้านเรามีความตื่นตัวมาก เพราะไปเห็นหมู่บ้านต้นแบบซึ่งในอดีตพวกเขาก็เคมีปัญหาเหมือนหมู่บ้านเรา แต่พอเขาปรับมาทำนาอินทรีย์ก็ทำให้สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านดีขึ้น มีกบ เขียด ปู ปลา กลับมาสู่ผืนนาเหมือนในอดีตที่เคยมี ทำให้คนที่ไปดูงานอยากเห็นสภาพแบบนั้นในหมู่บ้านกุดประทาย ซึ่งในอดีตบ้านเราก็เคยเป็นแบบนั้น และคิดว่าอีกไม่นานบ้านเราก็จะมีธรรมชาติแบบนั้นที่ดีเหมือนกัน” วาที วรรณประภา เลขานุการสภาผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแกนนำคนสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนหมู่บ้านกุดประทายด้วยเพราะอยากเห็นธรรมชาติดีๆในหมู่บ้านคืนมา


ปัจจุบันแม้ว่าในผืนนาของชาวบ้านกุดประทายจะยังไม่กลายเป็นหมู่บ้านทำนาอินทรีย์อย่างสมบูรณ์แบบเหมือนหมู่บ้านต้นแบบที่เด่นๆในระดับประเทศ แต่ก็ถือว่าที่นี่คือต้นแบบแห่งความร่วมมือและมีความพยายามในการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งถือว่าน่าชื่นชมอย่างมาก ยิ่งในสภาวการณ์ที่เกษตรกรส่วนมากไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบเรื่องธรรมชาติและผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำเกษตรที่มาพร้อมสารเคมี ยิ่งมีความจำเป็นต้องให้กำลังใจชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะอย่าลืมว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ชีวิตคนเรานั้นจะมีความสุขได้ก็ด้วยการมีอาหารที่ปลอดภัยและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์ นี่คือตัวชี้วัดแห่งคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

#เรื่องเล่าสำนัก6 #เม้าท์มอยชาวซอยเรา

#สำนักสร้างสรรค์โอกาส #สสส.

Comments


SECTION 6 

 THAIHEALTH PROMOTION FOUNDATION

© 2023 by Trademark.
Proudly created with Wix.com

Management by AllRightCorp.

THAIHEALTH PROMOTION FOUNDATION

99/8 Soi NgamdupleeThungmahamek, Sathorn, Bangkok, Thailand 10120

Tel: (66) 2 343 1500

Email:  THsection6@gmail.com

  • YouTube
bottom of page