“กระดานดำ”นวัตกรรมสร้างสุข สนุกได้ทุกวัยที่ “รร.บ้านตืองอ”
- เรื่องเล่าสำนัก 6
- Sep 29, 2019
- 1 min read
สานสัมพันธ์ “บ้าน-โรงเรียน-ชุมชน” ด้วยการเรียนรู้ “ภาษาไทย”
คำว่า “นวัตกรรม : Innovation” ในความคิดของคนส่วนใหญ่ คือ เทคโนโลยีทันสมัยไฮเทค แต่ในความจริงแล้ว เทคโนโลยีล้าหลังของบางพื้นที่อาจจะเป็นนวัตกรรมที่ดีในบางพื้นที่ก็เป็นได้ ดังเช่นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 อำเภอสุคิริน ชายแดนจังหวัดนราธิวาส ที่นั่นสามารถใช้ชอล์คและกระดานดำแก้ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างดี

บ้านตืองอ เป็นอีกชุมชนในชนบทชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลักในการสื่อสาร เป็นชุมชนชาวมุสลิมจากชายทะเลแถบหนองจิก ปานาเระสายบุรี ขึ้นมาบุกเบิกทำมาหากินตั้งแต่เมื่อราว 50 ปีก่อน โดยประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และรับจ้างทั่วไป ด้วยสภาพถนนหนทางที่ทุรกันดารจึงมีการตั้งโรงเรียน ตชด. บ้านตืองอฯ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ที่เปิดการสอนเป็นต้นมา โรงเรียน ตชด. บ้านตืองอฯ ก็ได้จัดการเรียนการสอนเน้นการอ่านเขียนภาษาไทยและการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามโครงการพระราชดำริโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารหลายครั้ง ซึ่งก็ได้ผลดีน่าพอใจมาก แต่อย่างไร ปัญหาด้านการเขียนอ่านภาษาไทยสำหรับนักเรียนก็ยังต้องการความใส่ใจอย่างใกล้ชิด
“การเรียนภาษาไทยในชุมชนมุสลิมก็เหมือนการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กพื้นที่อื่น แต่ยากกว่ามาก เพราะภาษาอาหรับมีสระน้อยกว่า ออกเสียงง่ายกว่าภาษาไทยมาก และตัวอักษรก็เขียนกลับด้านกับภาษาไทยคือเริ่มจากขวาไปซ้ายตรงกันข้ามกัน ดังนั้นเมื่อเด็กเขียนภาษาไทย มักจะเขียนถอยหลัง” ส.ต.ท.ดัตช์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูผู้สอนของโรงเรียนบ้านตืองอฯ อธิบาย

เป็นที่แน่นอนว่าการฝึกอ่านเขียนภาษาไทยบ่อยๆ คือวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งโรงเรียนบ้านตืองอฯ ก็สอนการอ่านเขียนภาษาไทยตามแบบการสอนเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ด้วยการแจกลูกสะกด หัดอ่านและเขียนไปพร้อมๆ กัน แต่ครูดัตช์พบปัญหาบางอย่างในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก
“เสียเวลาเรียนไปมากมายกับการเหลาดินสอ ผมพยายามแก้ปัญหาโดยการเหลาดินสอเตรียมไว้ก่อนชั่วโมงเรียนมากๆ แต่ก็ยังเสียเวลาเพราะเด็กๆ มักจะทำดินสอหักตอนเขียน” ครูดัตช์อธิบาย
ปัญหาดินสอหักอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ในความจริงแล้ว คือปัญหาทางด้านพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือสำหรับการเขียนในเด็ก โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน คณะครูจึงแก้ปัญหาโดยใช้ “ชอล์ค” และ “กระดานดำ” มาให้เด็กเขียนแทน ซึ่งชอล์คและกระดานมีขนาดใหญ่ เขียนตัวอักษรได้ขนาดใหญ่ จับถือง่ายและมีแรงฝืดในการเขียนพอเหมาะ เด็กสามารถเขียนได้คล่องมือมากกว่าการใช้กระดาษและดินสอ
“ชอล์คมีหลายสี สีของชอล์คก็มีผลมากเพราะสามารถเร้าความสนใจให้เด็กมากขึ้น และยังสามารถบูรณาการกระดานและชอล์คไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ เช่น การสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือศิลปะได้อย่างดี” ครูดัตช์อธิบาย
ด้วยข้อดีของชอล์คและกระดานดำในการสอนภาษาไทยในโรงเรียนบ้านตืองอฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะครูโรงเรียนบ้านตืองอฯ ได้พัฒนาชอล์คและกระดานดำเป็นนวัตกรรมให้เป็นกระดานดำส่วนตัว ในชื่อ โครงการสร้างเสริมความรู้ภาษาไทยเด็กด้อยโอกาสเรียนรู้ เพื่อฝึกการอ่านเขียนสะกดคำให้กับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

Comentarios