ธรรมนูญจัดการขยะชุมชน
- เรื่องเล่าสำนัก 6
- Oct 25, 2019
- 1 min read
มาตรการจัดการขยะยุคอีสาน 4.0 ของชาวบ้านโนนผึ้ง จ.อำนาจเจริญ
โนนผึ้งคือหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขต ต.นาจิก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีจำนวนครัวเรือนแค่ 76 หลังคา มีประชากร 285 คน ความโดดเด่นของที่นี่คือการจักสานมวยนึ่งข้าว ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้แก่ชุมชนตลอดทั้งปี จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ otop ซึ่งได้รับการสืบทอดกันมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยใช้ไม้ไผ่และไม้เสียวเป็นวัตถุดิบสำคัญในขั้นตอนการผลิต ซึ่งสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านอีกหนึ่งช่องทางนอกเหนือจากรายได้การทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านจักสานนี่เอง ประกอบกับลักษณะการตั้งบ้านเรือนมีลักษณะหลังคาเรือนอยู่ใกล้กันค่อนข้างแออัด ทำให้ในหมู่บ้านมีเศษจากไม้ไผ่ที่กลายเป็นขยะจนสร้างความไม่น่าอยู่ให้หมู่บ้าน ที่แม้ว่าจะไม่ได้เยอะเท่ากองภูเขาแต่พอเศษไม้ไผ่เหล่านี้ไปรวมกับขยะทั่วไปที่ยังไม่มีมาตรการในการจัดการที่ดี ปัญหาขยะจึงกลายเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่ชาวบ้านกล่าวถึง

นี่คือที่มาของการสร้างกติกาชุมชน ซึ่งบัดนี้ชาวบ้านโนนผึ้งได้เรียกว่า “ธรรมนูญการจัดการขยะชุมชนบ้านโนนผึ้ง” และในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามความร่วมมือหรือการทำ MOU ว่าด้วยการจัดการขยะชุมชนโนนผึ้ง โดยมีหน่วยงานภาคีในพื้นที่อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลนาจิกและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชือก ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บ้านโนนผึ้ง ร่วมลงนามเพื่อสร้างสัญญาร่วมกัน ว่าจากนี้ต่อไปทั้งชาวบ้านและหน่วยงานราชการจะช่วยกันดูแลความสะอาดหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบต่อพื้นที่ใกล้เคียง โดยยึดข้อบังคับจากธรรมนูญจัดการขยะชุมชนบ้านโนนผึ้งที่ทุกคนช่วยกันออกแบบ

บรรจง สุระวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มไฟแรงแห่งบ้านโนนผึ้ง เล่าให้ฟังว่า “จากนี้เป็นต้นไปเราต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง เนื่องจากตอนนี้เรามีการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน และเราได้แบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในการออกติดตามครัวเรือนเพื่อให้ทุกบ้านทำตามมาตรการที่เขียนไว้ในธรรมนูญซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในหมู่บ้าน เพราะความยั่งยืนมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานของคณะทำงานในชุมชนที่ต่อเนื่องและชาวบ้านพร้อมใจกันปฏิบัติตามกติกาจนกลายเป็นวิถีที่ทำไปโดยอัตโนมัติ นี่คือความยั่งยืนที่แท้จริง” คำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านคนเก่ง ที่ถึงแม้เขาจะมีทุนเดิมที่เคยทำงานร่วมกับขบวนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง แต่นั่นก็คือการทำงานกับเครือข่ายที่มีความคิดและแนวทางการทำงานร่วมกันจนรู้เขารู้ใจ แต่กับการทำงานที่ต้องลงลึกทางความคิดและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นกับชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านโดยการดึงเอาคนทุกกลุ่มมาทำงานร่วมกันแบบไม่มีค่าตอบแทนนั้น นับเป็นเรื่องยากที่ต้องเอาใจใส่ในทุกขั้นตอน แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ปีนี้ชุมชนโนนผึ้งมีโอกาสทำ
อาจารย์เจียมใจ พัฒนราช ข้าราชการครูบำนาญที่ตอนนี้ได้เข้ามาเป็นแกนนำหมู่บ้านและร่วมเป็นกำลังหลักกับสภาผู้นำชุมชนบ้านโนนผึ้ง ก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า “หลังจากพวกเราได้ทำงานมาระยะและตอนนี้ก็มีการร่างธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการขยะและมีการบันทึกลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นเสมือนการประกาศเจตนารมณ์การทำงานร่วมกัน ก็ทำให้การทำงานมีความง่ายขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมที่กว่าจะสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์นั้นเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งตอนนี้ข้อตกลงที่เขียนไว้ก็เป็นเสมือนกติกาชุมชนและชาวบ้านก็ให้การเคารพกติการ่วมกัน และในความคิดก็คิดว่าจะสร้างบ้านโนนผึ้งให้กลายเป็นต้นแบบของตำบลให้ได้” คำกล่าวของอาจารย์เจียมใจผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ที่ได้เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านโนนผึ้งให้มีความน่าอยู่มากกว่าที่เป็นและตอนนี้ทุกคนก็เริ่มเห็นเค้าลางกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นแล้ว
มาตรการสำคัญที่ถูกเขียนในธรรมนูญจัดการขยะของชุมชนบ้านโนนผึ้ง หลักๆนั้นมี 4 ข้อด้วยกันนั่นคือ (1) การหาแนวทางเพื่อการลดใช้ขยะในชุมชน (2) ให้ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะที่ถือเป็นการจัดการขยะที่ต้นทาง (3) ให้ทุกครัวเรือนหาแนวทางการแปรรูปขยะและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำเศษอาหารในครัวเรือนมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การนำเศษไม้ที่เหลือจากการจักสานมาประยุกต์เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่น เป็นต้น และ (4) การจัดทำสภาพกายภาพในชุมชนให้น่าอยู่ เช่น การจัดสวนหน้าบ้าน การปลูกพืชผักอินทรีย์หลังบ้านโดยการนำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งทั้ง 4 ข้อถือเป็นแนวทางสำคัญที่ทุกคนต้องยึดปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งถ้าหากทุกครัวเรือนในหมู่บ้านโนนผึ้งยึดถือรูปแบบตามนี้อย่างเคร่งครัดและทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่แกนนำชุมชนและหน่วยงานภาคีต้องการเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นเรื่องไม่ยาก
นิคม ฝ่ายบุตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาจิก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้ร่วมลงนามในฐานะตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้ให้ความเห็นต่อการดำเนินงานของบ้านโนนผึ้งว่า “การที่ชุมชนมีแนวทางในการจัดการตนเองนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งการดำเนินแนวทางนี้ของชุมชนโนนผึ้งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะการที่ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาบอกเล่าและวิเคราะห์ปัญหาของตนอีกทั้งได้ร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อพัฒนาตนเองนั้นก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนรอบๆ และองค์การบริหารส่วนตำบลก็พร้อมที่จะสนับสนุนในทุกเรื่องทั้งในด้านนโยบาย บุคลากรและรวมถึงงบประมาณในบางส่วนเพื่อให้มีการพัฒนาควบคู่กันไป”
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดการขยะ กระทั่งยกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยยึด ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2557 ที่ยึดหลัก 3 R นั่นคือ Reduce (การลดขยะ) Reuse (การนำกลับมาใช้ใหม่) และ Recycle (การแปรรูปขยะ) ดังนั้น จึงถือได้ว่าชุมชนบ้านโนนผึ้งได้ดำเนินแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ เพราะระเบียบที่ถูกเขียนลงในธรรมนูญการจัดการขยะชุมชนนั้นครอบคลุมทั้ง 3 หลักข้างต้น
อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้บ้านโนนผึ้งจะมีมาตรการจัดการขยะผ่านธรรมนูญชุมชนและมีพิธีลงนาม MOU อย่างเป็นทางการ แต่สิ่งท้าทายก็คือพวกเขาจะต้องลงมือทำอย่างจริงจังและที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงที่ตั้งไว้ ซึ่งการที่จะให้เป็นแบบนั้นทุกฝ่ายต้องพร้อมใจกันทำงานทั้งแกนนำชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนที่นี่ให้เป็นระเบียบ น่าอยู่ เพื่อให้ทุกคนเห็นประโยชน์ร่วม เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่ทุกคนช่วยกันในวันนี้ก็ไม่ได้ทำเพื่อใคร หากแต่เป็นการทำเพื่อตัวเองและส่งต่อความน่าอยู่ของชุมชนให้กับลูกหลาน เพื่อรับช่วงในการสืบต่อมรดกอันมีค่าให้คงอยู่ต่อไป
Comments