วงล้อปฏิทินปลูกผัก ผสมงานศิลปะสู่การเรียนรู้จริงในห้องเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนบริโภคผัก
- เรื่องเล่าสำนัก 6
- Oct 30, 2019
- 1 min read
Updated: Nov 8, 2019
โรงเรียนบ้านวังแท่น อ.วังสะพุง จ.เลย
โรงเรียนบ้านวังแท่น อ.วังสะพุง จ.เลย ไอเดียสุดเก๋ นำวงล้อปฏิทินปลูกผัก ผสมงานศิลปะสู่การเรียนรู้จริงในห้องเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนบริโภคผัก
“เด็กไทยไม่ชอบกินผัก” คือคำพูดที่คุ้นหูและถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยที่จะต้องหาทางให้เด็กๆ หันมาสนใจ และกินผัก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนและมีพัฒนาการที่เหมาะสมแก่วัย
สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สนับสนุนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการบริโภคผักในโรงเรียนโรงเรียนบ้านวังแท่น
อ.วังสะพุง จ.เลย นำเสนออีกหนึ่งรูปแบบของการใช้งานศิลปะเพื่อจูงใจเด็กๆ ให้หันมากินผัก ซึ่งเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กปลูกผักทำอาหารกลางวัน โดยมี สสส. สนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรม
โรงเรียนบ้านวังแท่น ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย เลือกใช้งานศิลปะให้เป็นมากกว่างานศิลปะไว้ชื่นชมความสวยงาม ครูที่นี่นำเอางานศิลปะมาใช้ในการเรียนรู้การปลูกผัก และจูงใจให้เด็กหันมาใส่ใจ สนใจ กินผักเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะไม่สามารถทำให้เด็กหันมากินผักได้ทั้งหมด 100% แต่งานศิลปะที่เด็กๆ ได้ร่วมวาดขึ้นมานั้น เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง ได้เห็นต้นผัก ได้ลองปลูกผัก ได้จำแนกประเภทของผัก และถ่ายทอดออกมาผ่านภาพวาดที่เกิดจากความเข้าใจของเด็กๆ และ จากต้นผักของเด็กๆ ทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจ และเต็มใจที่จะกินผักที่ตนเองปลูก

นายยนต์เทียน พาบุ ครูศิลปะโรงเรียนบ้านวังแท่น กล่าวว่า ปฏิทินปลูกผักไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ แต่เรานำมาทำใหม่ในรูปแบบของเราเอง โดยให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการใส่ข้อมูล รายละเอียดของผัก ระบายสีผักสีตัวหนังสือ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนปลูกผักไว้ทำอาหารกลางวันทั้งปีอยู่แล้ว จึงถือว่าครูและนักเรียนก็จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยว่า จริงๆ แล้วผักแต่ละชนิดไม่ได้สามารถปลูกได้ทั้งปี ดิน อากาศจะดีขนาดไหนถ้าไม่ใช่ช่วงของพืชผักชนิดนี้ก็จะได้ผลไม่สมบูรณ์
การเรียนรู้ของเด็กจากวงล้อปฏิทินปลูกผักนี้ช่วยตอบโจทย์เรื่องศักยภาพที่แตกต่างของเด็ก เพราะเด็กในโรงเรียนทุกคนไม่ใช่จะอ่านออกเขียนได้ทั้งหมด จะมีเด็กบางคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ซึ่งศิลปะสามารถตอบโจทย์ได้ หากใช้แค่ตัวหนังสือ อธิบายสรรพคุณของผัก เด็กบางส่วนไม่สามารถรับรู้เรื่องราวได้ แต่การใช้ศิลปะเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่วาดรูปผักได้สวยหรือเก่ง จะไมเก่งด้านวิชาการ พองานศิลปะของเขานำมาโชว์ต่อหน้าเพื่อนๆ เด็กทุกคนจะมีตัวตนเท่ากัน และกระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
“ศิลปะช่วยเชื่อมโยงถึงเรื่องของการปฏิบัติจริงในแปลงปลูกผัก งานศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่สามารถทำให้เด็กในโรงเรียนกินผักมากขึ้น คือ การที่เขาได้ลงมือทำจริงๆ ปลูก ดูแลจริงๆ เขาได้รู้ต้นทางว่าผักเกิดขึ้นมาได้อย่างไรเกิดความภูมิใจ เขาไม่ได้กินผักเพียงอย่างเดียวแต่เขากินความภูมิใจ ได้ตัดเอง นำไปล้างเอง และถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ”
นางวนาไพร ยอดพุทธ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังแท่น กล่าวว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงเด็กได้ดี เพราะทุกคนมีความเป็นศิลปินในตัวอยู่แล้วเราจะดึงด้านไหนออกมา และศิลปะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กได้เกือบทุกคน ซึ่งเด็กบางคนที่มีความพร่องด้านการเรียนรู้วิชาทักษะอื่นๆ เราก็สามารถใช้วิชาศิลปะส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ตรงนี้ได้ เขามีความสามารถด้านศิลปะเราก็ส่งเสริมด้านศิลปะให้เขา ซ่อมเสริมให้เขาได้
ศิลปะคือความเป็นสากล คนทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะ และมีศิลปะในการรับรู้ ใช้ชีวิต เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี ซึ่งหากจะพูดไปการเรียนรู้ของเด็กๆ ในวัยต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน สำหรับเด็กที่ไม่มีความถนัดเรื่องวิชาการ ผู้เขียนคิดว่าการใช้งานศิลปะมาให้เขาได้เรียนรู้ ถ่ายทอด และสร้างแรงจูงใจสำหรับเด็กได้ ซึ่งมีผลต่อความคิดของเด็ก เช่นเดียวกับการนำงานศิลปะมาสร้างแรงจูงใจให้เด็กหันมากินผัก เรียนรู้เรื่องผัก และภูมิใจในผลงานของตัวเอง คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถจูงใจให้เด็กกินผักได้ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
การปลูกผักตามฤดูกาล ซึ่งมีสภาพอากาศที่เหมาะสมกับผักแต่ละชนิด จะทำให้ผักไม่ต้องใช้สารเคมี เพื่อเร่งการเจริญเติบโต แต่ละฤดูกาลสามารถปลูกผักได้ดังนี้
ฤดูฝน
สภาวะความชื้นสูง บวกกับน้ำฝนธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ผักบางชนิดเกิดอาการเน่าได้ง่าย ผักในฤดูนี้จึงมีราคาค่อนข้างสูงและช้ำง่าย แต่ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่ก็จะงามพร้อมให้เก็บรับประทานในช่วงนี้เช่นกัน ได้แก่ ผักปลัง ดอกขจร ตำลึง ผักกูด โสน คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ พืชตระกูลข่า
ฤดูหนาว
เรียกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงนาทีทองของผักสลัด กะหล่ำ ผักกาด ผักคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค รวมถึงผักรับประทานหัวที่ปลูกได้ดีช่วงนี้อย่างเช่น แครอท และผักพื้นบ้าน เช่น ดอกแค สะเดา ผักชี เป็นต้น
ฤดูร้อน
เป็นฤดูที่พืชผักอาจจะไม่งามนัก เพราะด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าว การปลูกผักในช่วงนี้จึงควรให้ความสำคัญกับการรดน้ำเป็นพิเศษ และสามารถเลือกชนิดผักได้ตามที่เหมาะจะรับประทานในฤดูนี้ คือ ผักที่มีฤทธิ์เย็น ซึ่งจะแก้อาการร้อนในของร่างกายคนเราได้ด้วย เช่น แตงกวา บวบฟ้า ผักกาดขาว ผักกาดฮ่องเต้ และผักเลื้อยทั่วไป
Comentários